8 people found this review helpful
Recommended
0.2 hrs last two weeks / 18.6 hrs on record (18.2 hrs at review time)
Posted: 2 Nov @ 2:37am

ในช่วงหลายปีให้หลัง Call of Cthulhu ก็คือหนึ่งใน TRPG (Tabletop Role-playing Game) ที่ผมมีโอกาสเล่นบ่อยครั้งมากที่สุดเกมหนึ่งและก็เป็นเวลานานมากแล้วที่ผมอยากจะให้มีเกมที่ดัดแปลงมาจากเกมนี้ Depersonalization อาจจะไม่ใช่ Call of Cthulhu อย่างตรงตัวเสียทีเดียว แต่ก็เป็นเกมที่ดัดแปลงมาได้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่พอจะหาได้ในท้องตลาดเวลานี้

ถ้าให้เล่าถึงเนื้อหากว้าง ๆ ของเกม ตัวคุณเองก็จะได้รับบทเป็นพ่อหนุ่มคนหนึ่งที่เรียกว่า ‘กุญแจเงิน’ (The Silver Key) ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยเทพีแห่งปริภูมิเวลา (ยอก-โซธอท) เพื่อที่จะต่อสู้กับอีกหนึ่งร่างอวตารของนางเองที่เรียกว่า ‘อฟอร์โกมอน’ (Aforgomon) ตัวเอกของเราก็จะสามารถส่งสติสัมปชัญญะของตัวเองเข้าไปสิงสู่ในร่างของบุคคลต่างยุคต่างสมัย (คล้ายกับพวก Yithians) เพื่อแก้ไขคดีประหลาดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวประหลาดและเหล่าเทพจากต่างโลกของคุณเลิฟคราฟท์

ตัวเกมก็จะถูกตัดแบ่งออกเป็นคดีย่อย ๆ (ในเกมจะเรียกว่า Modules) ที่มีความยาวต่อคดีประมาณ 1-2 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับว่าคุณเลือกที่จะไขปริศนาอย่างไรหรืออ่านเร็วหรือช้ามากแค่ไหน) สิ่งที่คุณจะต้องทำในเกมก็คือการรวบรวมเบาะแสที่มีเพื่อที่จะนำพาไปสู่ฉากจบของคดี บางคดีก็จะมีฉากจบที่หลากหลาย โดยบุคลิกของนักสืบที่คุณใช้ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจจะส่งผลต่อรูปคดี ก็เหมือนดังเช่น TRPG ส่วนใหญ่นั่นแหละ คุณจะสนุกกับเกมได้ก็เมื่อคุณ Roleplay เป็นตัวละครเหล่านั้น ถ้าคุณตั้งใจที่จะเล่นเพื่อเคลียร์ฉากจบเท่านั้น ความสนุกของเกมก็จะลดลงไปมาก

นักสืบคนหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นก็จะสามารถนำไปใช้ข้าม Module (ถ้าพวกเขารอดชีวิต) และคุณก็สามารถที่จะปลดล็อคแต้มหรือสิ่งของเพื่อนำมาใช้ในคดีต่อ ๆ ไปได้ด้วยตามแบบ TRPG ที่เรารักจะเล่นกัน

กฎของเกมก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนสักเท่าใดนัก ในทุกกิจกรรมที่คุณได้ทำก็จะใช้การทอยลูกเต๋าสิบหน้าสองลูกเพื่อตัดสินผลลัพธ์ เกมนี้จะอิงตามกฎ Call of Cthulhu ก็คือยิ่งได้แต้มน้อยก็ยิ่งดี (ไม่เหมือน D&D ที่ต้องการแต้มมาก) กิจกรรมโดยทั่วไปก็ขอให้คุณทอยได้ต่ำกว่าแต้มทักษะที่คุณมีก็จะถือว่าสำเร็จ (จริง ๆ แล้วก็มีกฎยิบย่อยอีกนิดหน่อยในเกม แต่กฎการเล่นในภาพรวมก็จะประมาณนี้) ถ้าคุณไม่เคยเล่น CoC มาก่อนก็อาจจะงงนิดหน่อยในช่วงแรก แต่เมื่อเริ่มคุ้นชินแล้วคุณก็จะสนุกกับมันมาก ๆ (CoC เป็นหนึ่งใน TRPG ที่มีกฎเข้าถึงได้ง่ายที่สุดเกมหนึ่ง)

จุดเด่นที่เห็นได้ชัดที่สุดของเกมก็คือโลกฉากหลังของเกมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Cthulhu Mythos ตัวเกมเลือกที่จะหยิบตำนานของเทพและสิ่งมีชีวิตจากต่างโลกทั้งหลายมาปรับใช้เพื่อสร้างจักรวาลใหม่ของตัวเองขึ้นมา (หลายสิ่งจึงไม่ตรงกับตำนานเดิมของคุณเลิฟคราฟท์เสียทีเดียว แต่จะใกล้เคียงกับจักรวาลขยายของ Chaosium มากกว่า) ดังนั้นคุณจึงมีโอกาสที่จะได้เผชิญหน้ากับเหล่าเทพจากต่างโลกที่เราคุ้นหน้าทั้งหลายที่ถูกสร้างโดยคุณเลิฟคราฟท์และผองเพื่อน เพียงแต่ตัวเกมจะให้อารมณ์แฟนตาซีมากกว่าที่จะเป็นเรื่องประหลาดแบบในนิยาย (ถ้าคุณชอบ ‘เรื่องเล่าจากข้างใต้ผืนฟ้าที่ไร้แสง’ ของผู้เขียน คุณก็อาจจะชอบเกมนี้)

และในเมื่อตัวเกมค่อนข้างที่จะเน้นเนื้อหา นี่จึงเป็นจุดบอดสำคัญเลยของเกม เพราะในขณะที่เขียนความเห็นนี้ มีเนื้อหาบางจุดที่ยังแปลไม่สมบูรณ์ หรือเนื้อหาส่วนที่แปลเสร็จแล้วก็ยังอยู่ในจุดที่อ่านรู้เรื่องแต่ไม่มีภาษาวรรณกรรม (ขณะที่เขียน Module ที่ใหญ่ที่สุดยังใช้โปรแกรมในการแปลภาษา ซึ่งทีมพัฒนาก็ยอมรับตามตรงและเขียนระบุไว้ในเกมเช่นนั้นเพื่อให้ผู้เล่นเตรียมใจล่วงหน้าพร้อมเปรย ๆ ว่าจะแปลในอัปเดตต่อ ๆ ไป) ดังนั้นถ้าคุณเป็นเกมเมอร์ที่ค่อนข้างจะจุกจิกเรื่องนี้ ผมก็แนะนำให้เลี่ยงเกมนี้ไปก่อน แต่ถ้าคุณเล่นเกมค่ายจีนมาเยอะ คุณก็คงจะคุ้นชินและไม่มีปัญหากับเกมมากนัก (งานแปลโดยภาพรวมก็ยังดีกว่าเกมจีนโดยทั่ว ๆ ไปมหาศาล ยังแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและแพชชั่นในงานของทีมพัฒนา เพียงแต่กำแพงภาษาและงบที่มีไม่เอื้ออำนวยจริง ๆ)

สรุปแล้ว Depersonalization ก็ถือได้ว่าเป็นเกมที่เกาถูกที่คันสำหรับชาวเลิฟคราฟท์เธียนผู้รักใน TRPG และ Call of Cthulhu เป็นอีกหนึ่งเกมที่ส่วนตัวผมอยากจะแนะนำเพราะรับรู้ได้ถึงความใส่ใจในงานของทีมพัฒนาที่ยังคงพยายามที่จะปรับปรุงเกมอยู่อย่างต่อเนื่อง
Was this review helpful? Yes No Funny Award